วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2552

บัญชีครัวเรือน


บัญชีครัวเรือน มีการรณรงค์มาได้ระยะหนึ่งแล้ว ด้วยสโลแกน “จดแล้วไม่จน” โดยมี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.) เป็นแกนในการดำเนินการ มีการแจกสมุดบัญชีครัวเรือนไปแล้วกว่า 5 ล้านเล่ม โครงการบัญชีครัวเรือนเริ่มต้นตั้งแต่วันแม่ 12 ส.ค. 2548 ซึ่งเมื่อถึงวันพ่อ 5 ธ.ค. 2551 ที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง มีคนไทยหลายภาคส่วน ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ให้ความสนใจในเรื่องนี้“เมื่อก่อนนี้ครอบครัวของฉันไม่เคยทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายประจำวัน ทั้ง ๆ ที่บ้านฉันเปิดร้านขายของชำ มีลูกค้าอุดหนุนมากมาย แต่กลับประสบปัญหาขาดทุน”
ตัวอย่างบุคคลที่ทำบัญชีครัวเรือน
เป็นคำบอกเล่าในบทเรียงความตามโครงการ “สุดยอดนักบัญชีอาสาพาครอบครัวสดใส” ของ
ด.ญ.เวธกา ไวมือ นักเรียนชั้น ป.6 ที่ จ.ลำปาง ซึ่ง ด.ญ.เวธการะบุอีกว่า... เพราะไม่เคยรู้ว่าลงทุนซื้อของเข้าร้านไปเท่าไหร่ ขายสินค้าได้เท่าไหร่ พ่อแม่ใช้จ่ายเงินในการสังสรรค์กับเพื่อนฝูง-ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไปเท่าไหร่ ในที่สุดครอบครัวก็ประสบปัญหาสาหัส “ไม่มีเงินซื้อของเข้าร้าน บ้านถูกยึด ครอบครัวของฉันต้องมาอาศัยกับตายาย” ...ด.ญ.เวธกาบอก แต่...วันนี้ฐานะครอบครัวของน้องคนนี้สามารถฟื้นตัวได้แล้ว โดยมี “บัญชีครัวเรือน” เป็นเครื่องเตือนสติ “จากบัญชีที่แม่ให้ฉันทำ มีค่าใช้จ่ายของพ่อนั่นก็คือค่าเหล้าที่พ่อชอบซื้อมาเลี้ยงคนงานตอนเย็น แล้วพ่อก็นั่งกินกับคนงานด้วย แล้วก็มีค่าบุหรี่ที่พ่อสูบเดือนหนึ่งประมาณพันกว่าบาท ฉันทำบัญชีเห็นแล้วเสียดาย เพราะมันเป็นค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย” ...นี่เป็นส่วนหนึ่งจากเรียงความของ ด.ญ. เปมิกา ทั่งทอง นักเรียนชั้น ป.5 ที่ จ.ตราด ซึ่งเมื่อประกอบกับเป็นห่วงสุขภาพของพ่อ ก็รบเร้าให้พ่อเลิกเหล้าเลิกบุหรี่“จนถึงทุกวันนี้ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงอีกเดือนละพันกว่าบาท ฉันก็ยังทำบัญชีให้แม่เหมือนเดิม รวมทั้งบัญชีของตัวเองด้วย” ...ด.ญ.เปมิการะบุด้าน
ด.ญ.ครียาภัทร ทองนาค นักเรียนชั้น ม.2 ที่ จ.ยโสธร ก็เขียนเรียงความตามโครงการ “สุดยอดนักบัญชีอาสาพาครอบครัวสดใส” เอาไว้ตอนหนึ่งว่า... “เมื่อก่อนคุณพ่อเคยดื่มเหล้าสูบบุหรี่ คุณแม่ชอบเล่นหวยและซื้อเครื่องสำอางมากมาย แต่พอคุณพ่อเลิกดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ส่วนคุณแม่ก็เลิกเล่นหวยและซื้อเครื่องสำอางน้อยลง เมื่อคำนวณรายจ่ายในแต่ละเดือนประหยัดเงินไปได้ถึงเดือนละ 3,000-4,000 บาท” ...นี่ก็ผลจากการทำบัญชีครัวเรือนจนครอบครัวนี้เห็นชัดถึงยอดรายจ่ายไม่จำเป็นที่สูง และสามารถตัดออกไปได้“ทำให้เราทราบรายได้และรายจ่ายที่แน่นอน รวมทั้งทราบค่าใช้จ่าย ที่ฟุ่มเฟือย เช่น ค่าเสื้อผ้า ค่าเสริมสวย ค่าของเล่น ค่าตั๋วดูภาพยนตร์ อันไหนที่ไม่จำเป็นเราก็สามารถตัดออกได้ ทำให้ครอบครัวของผมมีเงินเหลือเก็บมากขึ้น เงินส่วนนี้ก็เป็นเงินออมของครอบครัว ซึ่งสามารถนำมาใช้จ่ายได้ในเวลาที่จำเป็น” ...ส่วนนี่มาจากเรียงความของ
ด.ช.ประพัฒน์พงษ์ ตั้งเจริญ นักเรียนชั้น ป.3 ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งก็เป็นอีกบทพิสูจน์เรื่อง “จดแล้วไม่จน” ที่ต่อยอดเป็น “มีเงินออม” ด้วย !!“บัญชีครัวเรือน” หรือบัญชีรายรับ-รายจ่ายประจำครอบครัว ที่จริงก็มิใช่เรื่องใหม่ หลายครอบครัวที่มีฐานะดีในวันนี้ได้ก็เพราะมีการทำบัญชีลักษณะนี้
พนักงานของ ธ.ก.ส. ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ไพโรจน์ ตัณฑิกุล พนักงานของ ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ รายนี้ทำบัญชีครัวเรือนมาร่วม 30 ปีแล้ว โดยเขาเล่าว่า... ตั้งแต่ปี 2520 ตั้งแต่แต่งงานและมีลูกคนแรก เขาและภรรยาได้แยกจากครอบครัวมาเช่าบ้านอยู่และเริ่มวางอนาคตครอบครัวใหม่ของตนเอง ซึ่งขณะนั้นเงินเดือนเมื่อหักภาษีแล้วเหลือเพียง 1,900 บาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายมีมากมาย คู่สามีภรรยาจึงเห็นพ้องกันว่าต้อง “ทำบัญชีควบคุมรายจ่ายทุกวัน” เขาบอกว่า... ทำบัญชีครัวเรือนไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อคุมยอดค่าใช้จ่ายให้เพียงพอกับรายได้ เมื่อชนะก็ยิ่งมั่นใจ และอยากทำลายสถิติค่าใช้จ่ายเดือน ใหม่ไปเรื่อย ๆ ซึ่งเคล็ดลับความสนุกในการทำบัญชีครัวเรือนนั้นอยู่ที่ทำงานกันเป็นทีมและถ่วงดุลกัน เช่น สามีลงบัญชี...ภรรยาตรวจ ภรรยาลงบัญชี...สามีตรวจ“ต้องให้มีการวิจารณ์ติชมทุกรายการที่ใช้จ่ายได้ ห้ามโกรธเคืองกัน เพราะมันคือความสำเร็จของครอบครัวครับ” ...ไพโรจน์กล่าว และบอกอีกว่า... “ข้อดีของบัญชีครัวเรือนคือทำให้สามารถเอกซเรย์สถานะตัวเองได้ทะลุปรุโปร่ง ดูอดีตและคาดการณ์การใช้จ่ายในอนาคตให้เหมาะสมได้”ปัจจุบันครอบครัวของไพโรจน์มีบ้านเดี่ยวหลังไม่เล็กบนที่ดิน 50 ตารางวาอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ มีรถยนต์ขับ มีฐานะการเงินไม่น้อยหน้าใคร โดยไพโรจน์ยืนยันว่า... “ก็เป็นผลมาจากการออม รู้จักกินรู้จักใช้แบบเศรษฐกิจพอเพียง ควบคุมรายจ่ายไม่จำเป็นโดยบัญชีครัวเรือน หากผมและภรรยาไม่รู้จักคำว่าพอเพียงและจัดทำบัญชีครัวเรือนแล้วละก็...ผมคงจะไม่มีบ้านและรถยนต์นั่งในวันนี้หรอกครับ” “บัญชีครัวเรือน” ช่วยชี้ว่าจัดการเงินได้ถูกต้องแค่ไหนเป็นอีกสิ่งที่น่าลองทำในปีใหม่ “เพื่อชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

การจัดทำบัญชีครัวเรือน มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

(๑) แยกประเภทของรายได้ และค่าใช้จ่าย แต่ละประเภทออกมา อาจใช้สมุดบัญชีที่มีขายตามร้านทั่วไป หรือหาสมุดมาตีเส้น แบ่งออกเป็นแถวในแนวตั้งและแนวนอน เพื่อจดรายการ
(๒)กำหนดรหัสประเภทของรายได้ และ ค่าใช้จ่าย เพื่อใช้สรุปประเภทของค่าใช้จ่าย
(๓) เริ่มจากยอดเงินสดยกมา หรือ เงินทุนตั้งต้น แล้ว บวก ด้วยรายได้ หัก ด้วยค่าใช้จ่าย และแสดงยอดคงเหลือไว้
(๔)นำรายการที่เป็นบัญชีประเภทเดียวกัน รวมยอดเข้าด้วยกัน แล้ว แยกไปสรุปไว้ต่างหาก โดยสรุปยอดตามแต่ต้องการ เช่น เป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ หรือรายเดือน เป็นต้นดูตัวอย่างดีกว่าครับ ขั้นตอนที่ ๑ ถึง ๓ จะได้บัญชีหน้าตาดังนี้
เมื่อสิ้นวัน สิ้นสัปดาห์ ครบสิบห้าวัน หรือ สิ้นเดือน ก็สรุปยอดโดยนำประเภทบัญชีเดียวกันมารวมยอดกัน และสรุปออกมาเป็นรายได้รวม และค่าใช้จ่ายรวม อาจเรียกรายการสรุปนี้ว่า งบรายได้ค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นผลจากการทำตามขั้นตอนที่ ๔ ดังนี้
ตามตัวอย่าง ในรอบบัญชีดังกล่าว เรามีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย 1,640 บาท เนื่องจาก มีรายได้ 4,500 บาท และมีค่าใช้จ่ายรวม 2,860 บาท ยอด 1,640 บาท นี้เมื่อนำไปรวมกับยอดเงินตั้งต้น จะได้ 11,640 บาท สองยอดนี้ต้องตรงกัน เป็นอันเสร็จพิธี
การที่จะแจกแจงบัญชีให้มีข้อมูลประกอบแก่เรามากน้อย ก็ขึ้นอยู่กับกิจกรรม และรายละเอียดที่เราต้องการทราบ เช่น ค่าใช้จ่ายเราอาจจะแยกออกเป็น ต้นทุนขาย ซึ่งเป็นรายการที่เป็นต้นทุนทางตรงของเรา แยกต่างหากจาก ค่าใช้จ่ายทั่วไป ซึ่งบางครั้งเรียกว่า ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ก็ย่อมทำได้
หากมองภาพเปรียบเทียบกับการทำบัญชีของกิจการ ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท นั้น ความจริงแล้วก็มีพื้นฐานความคิดแบบเดียวกันกับ “บัญชีครัวเรือน” แต่ข้อแตกต่างพื้นฐานที่สำคัญคือ บัญชีครัวเรือน จะจัดทำด้วย “เกณฑ์เงินสด” ส่วนระบบการทำบัญชีตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป ซึ่งประยุกต์ใช้กับกิจการนั้น ไม่ใช้เกณฑ์เงินสด แต่จะใช้เกณฑ์ที่เรียกกันว่า “เกณฑ์คงค้าง” หรือเรียกอีกอย่างว่า “เกณฑ์สิทธิ” (Accrual Basis) ดังที่เคยกล่าวไว้ในเรื่อง “แม่บทการบัญชี” นอกจากนี้ยังมีเกณฑ์อื่นๆที่แตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย ซึ่งต่างกันด้วยสาเหตุที่กิจกรรมในการดำเนินธุรกิจ กับ รายรับรายจ่าย ของครัวเรือน มีความซับซ้อนแตกต่างกัน อีกทั้งตัววัดค่า เพื่อประเมินผลการดำเนินงานนั้น ก็ต้องพยายามลดข้อจำกัดหลายๆอย่างลง ทำให้ต้องเพิ่มเงื่อนไขในการจัดทำบัญชี เพื่อให้บัญชีที่จัดทำสะท้อนผลได้ดีที่สุดนั่นเอง